สู้ไม่ถอย!!! 2 สามีภรรยา เจ้าของอาคารย่านสวนมะลิ ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
วันที่ 1 ก.พ.64 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช หรือ ทนายกระดูกเหล็ก ได้พาคุณสมชาย และคุณเพชรรัตน์ อุตมะวณิชย์ ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของอาคารย่านสวนมะลิที่มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารจากผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เดินทางเข้ายื่นหนังสือให้ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เข้าข่าย ม.157 กรณีสั่งทุบตึกที่มีการต่อเติมผิดแบบย่านสวนมะลิ โดยมิชอบ หลังจากที่คุณลุงสมชาย และคุณป้าเพชรรัตน์ อุตมะวณิชย์ ได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรมในการไม่ให้เจ้าหน้าที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เข้ามารื้ออาคารดังกล่าว แต่ทางเจ้าหน้าที่เขตกลับไม่สนใจ ถือคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เข้ารื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ศาลฎีกา( แผนกปกครอง) มีคำพิพากษาว่าคำสั่งของเขตป้องปรามฯ ที่ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมายื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 และวันที่ 10 มกราคม 2549 นายสมชาย อุตมะวณิชย์ และนางเพ็ชรรัตน์ อุตมะวณิชย์ 2 สามีภรรยา ได้ซื้ออาคาร 6 ชั้น เลขที่ 32, 34, 36 และ 38 ถนนยุคล 1 แขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร จากนายฉัตรชัย เกียรติสุขสถิตย์ โดยไม่ทราบมาก่อนว่านายฉัตรชัยฯ มีข้อพิพาทในเรื่องอาคารข้างเคียงกับนายดําเกิง โอภาเฉลิมพันธุ์ อาคาร 6 ชั้น เลขที่ 54 และ 56 ถนนเฉลิมเขต 3 ฯ มาตั้งแต่ปี 2541 โดยนายดําเกิงฯ ได้ร้องเรียนต่อ ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายฉัตรชัยฯว่า มีการต่อเติมอาคารเลขที่ 32, 34, 36 และ38 จากชั้น 4 เป็นชั้น 5 และชั้น 6 นายฉัตรชัยฯ ก็ได้ร้องเรียนนายดําเกิง ฯเช่นเดียวกันว่า มีการต่อเติมอาคารเลขที่54 และ 56 จากชั้น 4 เป็นชั้น 5 และชั้น 6 เช่นเดียวกัน
ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2542 ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในขณะนั้นก็ได้มีคําสั่ง เลขที่ กท. ๙๐๗๗/๒๑๙๗ ให้รื้อถอนอาคารเลขที่ 54 และ 56 ชั้น 5 และชั้น 6 ของนายดําเกิงฯ และมีคําสั่งเลขที่ กท. ๙๐๗๗/๒๑๙๖ ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2542 , คําสั่งเลขที่ กท.๙๐๗๗/๑๕๐๔ ลงวันที่ 12 เมษายน 2542 ให้รื้อถอนอาคารเลขที่ 32, 34, 36 และ 38 ชั้น 5 และชั้น 6 ของนายฉัตรชัยฯ และต่อมาเมื่อนายสมชายฯและนางเพ็ชรรัตน์ฯ ได้ซื้อห้องดังกล่าวมาจากนายฉัตรชัยฯ โดยไม่ทราบถึงคําสั่งดังกล่าว ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในขณะนั้น ก็ ได้ออกคําสั่งเลขที่กท.๔๑๐๓/๔๙๐๑ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 และ คําสั่งเลขที่ กท.๔๑๐๓/๑๗๕๓ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2549 ให้นายสมชายฯ และนางเพ็ชรรัตน์ฯ รื้อถอนอาคารดังกล่าว
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารเลขที่ 32, 34, 36, 38 ของนายฉัตรชัยฯ อาคารเลขที่ 54 และ 56 ของ นายดําเกิงฯ และอาคารอื่นๆอีก 27 คูหารวมเป็น 33 คูหา ดังกล่าว ที่มีอยู่แล้วในลักษณะอันเป็นการเพิ่ม น้ําหนักให้แก่อาคารนั้นมาก จึงต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามมาตรา 6 ประกอบมาตร 7(2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 แต่ปรากฏว่าอาคารเลขที่ 32, 34, 36, 38 ของนายฉัตรชัยฯ อาคารเลขที่ 54 และ 56 ของนายดําเกิงฯและอาคารอื่นๆ อีก 27 คูหา เจ้าของอาคารมิได้มีการขออนุญาตดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 แต่อย่างใด
เมื่ออาคารดังกล่าวทั้ง 33 คูหา มีการดัดแปลงในส่วนนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 แต่เมื่อการดัดแปลงในส่วนนี้เกิดขึ้นก่อนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการ ก่อสร้างอาคารพ.ศ.2522 ใช้บังคับ จึงไม่ต้องห้ามตามข้อ 83 แห่งข้อบัญญัติดังกล่าว และถือว่าเป็นกรณีที่ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดังนั้น ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายต้องมีคําสั่งแจ้งให้นายฉัตรชัยฯ หรือนายดําเกิงฯ แก้ไขตามมาตรา ๓๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 เสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จึงจะมีคําสั่งให้รื้อถอนอาคารที่มีการดัดแปลงในส่วนนี้ได้
ดังนั้นการที่ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีคําสั่งเลขที่ กท.๙๐๗๗/๒๑๙๗ ให้รื้อถอนอาคาร เลขที่ 54 และ 56 ชั้น 5 และชั้น 6 ของนายดําเกิงฯ และมีคําสั่งเลขที่ กท.๙๐๗๗/๒๑๙๖, คําสั่งเลขที่ กท. ๙๐๐๗/๑๕๐๔ ลงวันที่ 12 เมษายน 2542 ให้รื้อถอนอาคารเลขที่ 32, 34, 36 และ 38 ชั้น 5 และชั้น 6 ของนายฉัตรชัยฯ และมีคําสั่งเลขที่กท.๔๑๐๓/๔๙๐๑ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2528 และ คําสั่งเลขที่ กท. ๔๑๐๓/๑๗๕๓ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2549 ให้นายสมชายฯ และนางเพ็ชรรัตน์ฯ รื้อถอนอาคารชั้น 5 และชั้น 6 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วคือ คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๔๕/๒๕๕๔ ระหว่าง นายดําเกิง โอภาเฉลิมพันธุ์ โจทก์ กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๑, ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่ ๒, นายสถาพร สุรพงษ์พิทักษ์ ที่ ๓ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ๒๕๒๒ ที่ ๔ จําเลย
ต่อมาในวันที่ 19 มกราคม 2564 นายสมชายฯและนางเพ็ชรรัตน์ฯได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมธรรมต่อ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายขอให้เพิกถอนคําสั่งทั้ง 5 คําสั่งดังกล่าวและ ออกคําสั่งใหม่ให้แก้ไขให้ถูกต้อง
และต่อมาในวันที่ 22 มกราคม 2564 นายสมชายฯและนางเพ็ชรรัตน์ฯ ได้ยื่นคําร้องขอความเป็นธรรม (เพิ่มเติม)ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อทบทวนคําสั่งทางปกครอง ที่บังคับให้รื้อถอนอาคารด้วยการขอพิจารณาใหม่ กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ตามนัยมาตรา 54 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยให้เพิกถอนคําสั่งรื้อถอนอาคารของนายสมชายฯและนางเพ็ชรรัตน์ฯ อาคารเลขที่ 32 ถึง 38
แต่ปรากฏว่าผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายได้พูดว่า “ไม่สนใจคําร้องขอความเป็นธรรมของผู้ร้องที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ ที่ยื่นมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 และวันที่ 22 มกราคม 2564 ทั้ง 2 ฉบับ จะทําการรื้อถอนอย่างเดียวตามคําสั่งศาลปกครองสูงสุด และรอเพียงงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร เท่านั้น และให้ผู้ ร้องที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ มีโอกาสเลือกได้ 2 ทาง คือ 1.จะรื้อถอนเอง หรือ 2.จะให้ทางเขตทําการรื้อถอน หลังจากงบประมาณมา ส่วนที่ผู้ร้องที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ ได้ยื่นคําร้องมาขอให้ตรวจสอบอาคารทั้งหมดรวม ทั้งหมด 33 คูหา ซึ่งก่อสร้างพร้อมกันเมื่อปี พ.ศ. 2507 และมีการสร้างชั้น 5 ถึงชั้น 6 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 นั้น ก็จะตรวจสอบให้แต่จะรื้อถอนอาคารผู้ร้องที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ ก่อนแล้วถึงจะมีคําสั่งให้อาคารที่เหลืออีก 27 ห้อง ค่อยสั่งให้แก้ไข(ตามแบบ ค.๑)” จากคําพูดดังกล่าวของนายยุทธนา ป่าไม้ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แสดงว่า นายยุทธนา ป่า ไม้ ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ไม่สนใจพิจารณาคําร้องขอความเป็นธรรมที่ผู้ร้องที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ ได้ ยื่นไว้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 และวันที่ 22 มกราคม2564 แต่อย่างใด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรา 39 ทวิ, มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และตามคําพิพากษาศาลฎีกา(แผนก คดีปกครอง) ที่ ๓๓๘๕/๒๕๕๔ ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ นายสมชายฯและนางเพ็ชรรัตน์ฯ
นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้า พนักงานท้องถิ่นเจ้าของอํานาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้มอบอํานาจให้ผู้อํานวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายปฏิบัติราชการแทน มีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้อํานาจของผู้ใต้บังคับบัญชา ในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารต่อประชาชนด้วยความเสมอภาคและมีความชอบธรรม จากพยานหลักฐานใหม่และผลของคําพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวชี้ชัดว่า คําสั่งทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าว เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากทราบแล้วไม่เพิกถอนคําสั่งดังกล่าว และมีคําสั่งใหม่ให้แก้ไขตามมาตรา 39 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ก็ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงได้มายื่นหนังสือกล่าวโทษ ว่า นายยุทธนา ป่าไม้ ผู้อํานวยการเขตป้อม ปราบศัตรูพ่ายและพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อป.ป.ช.
หลังจากที่นายสมชายฯและนางเพ็ชรรัตน์ฯได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษในวันนี้แล้ว ก็ยังไป ยื่นหนังสือถวายฎีกาพระเจ้าอยู่หัวฯในวันนี้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น