การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำในบริเวณต้นแม่น้ำปิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แม่น้ำปิงที่ไหลลงมาเข้าเขื่อนภูมิพลลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงริเริ่มโครงการเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลขึ้น โดยจะมีการสร้างเขื่อนน้ำยวม ขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อผันน้ำยวมส่วนเกินในฤดูฝน ผ่านอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดิน ไปเติมให้กับเขื่อนภูมิพล หลังกรมชลประทานได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหาแนวทางลดผลกระทบให้คนในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งมีชาวบ้านจำนวน 9 คน ที่จะสูญเสียที่ดินทำกินไปประมาณ 13 แปลง แต่ชาวบ้านบางส่วนที่จะได้รับผลกระทบ ยังคงกังวลใจกับแนวทางการเยียวยาจากภาครัฐ
นายทอง ปันหม่อง ชาวบ้านท่าเรือ ในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบ้านอยู่ในบริเวณที่คาดว่าน้ำจะล้นขึ้นมาท่วม นายทองบอกว่า “ถ้าสร้างขึ้นมาจริงๆก็แล้วแต่ ค้านไม่ได้ เพราะว่าประท้วงอะไรก็ไม่ได้ บ้านหลังสองหลัง ถ้ามันเจริญลูกหลานตอนหลังก็จะสบาย ผมมันก็แก่แล้วอยู่ได้ไม่นาน ผมคิดว่ามันก็ดี”
ส่วนนายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ชาวบ้านแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงกังวลในกับเงินเยียวยาจากภาครัฐ เพราะคาดว่าพื้นที่บ้านและสวนของเขาจะอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเช่นกัน
“ผมก็ฝากไปหลายๆเรื่องหลายครั้งว่า เข้าใจอยู่ผมอยากเห็นคนไทยรักกัน แต่ว่าตรงนี้ในเมื่อมันเสียสละแล้วไปให้ภาคกลาง ถามว่าตรงนี้ได้อะไรบ้าง”
ขณะที่นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชาวไทย ชาวไทยภูเขาชนเผ่าต่างๆอย่างเป็นธรรม
“ถ้าท่านอยู่ตรงนี้ อยู่แล้วแน่นอนตั้งแต่เมื่อไร แล้วแต่มีหลักฐาน และมีที่ผมกล่าวไปแล้ว หลักเกณฑ์ได้ ผมว่ายังไงภาครัฐเราก็ต้องจ่ายไปตามนั้นอยู่แล้วนะครับ เพราะหนึ่งท่านมีตัวตนแน่ ท่านมีเอกสารส่วนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่นะครับ ว่าท่านมาทำกินตั้งแต่ปีพ.ศ.ไหน ใครรับรองสิทธิ์ให้ท่านได้นะครับ ผมว่าสามารถดำเนินการดูแลตรงนี้ได้อย่างแน่นอนครับ” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น